องค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ "ยึดมั่นธรรมภิบาล บริการเพื่อประชาชน" ติดต่อโทร 045-523-166 ,

โรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) เป็นการทำงานด้านการส่งเสริมกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียน ที่ต่อยอดมาจาก โครงการศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาระดับจังหวัด (พ.ศ.2538-2548) ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้การสนับสนุนโรงเรียนเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาระดับจังหวัด โดยมีศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาเกิดขึ้นทั้งสิ้น 63 ศูนย์ ใน 53 จังหวัด

31 พ.ค. 2564

ระบบโรงเรียนอีโคสคูล - ความเป็นมา

สมัครได้ที่ https://datacenter.deqp.go.th/service-portal/eco-school-system/derivation/

ความเป็นมา
  
         โรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) เป็นการทำงานด้านการส่งเสริมกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียน ที่ต่อยอดมาจาก โครงการศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาระดับจังหวัด (พ.ศ.2538-2548) ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้การสนับสนุนโรงเรียนเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาระดับจังหวัด โดยมีศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาเกิดขึ้นทั้งสิ้น 63 ศูนย์ ใน 53 จังหวัด

ในปี พ.ศ.2548 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้จัดเวทีเสวนา “1 ทศวรรษ : ประสบการณ์การดำเนินงานศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาระดับจังหวัด” ขึ้น เพื่อสรุปผลการทำงานและรับฟังข้อเสนอและข้อคิดเห็นจาก “คนทำงานศูนย์” ซึ่งเวทีเสวนาในครั้งนั้น ได้มีความเห็นร่วมกันว่า การพัฒนางานสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียน ให้ตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ควรดำเนินการให้กลมกลืนไปกับมิติการเรียนรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวผู้เรียน ทั้งในโรงเรียน ที่บ้าน ชุมชนและสังคมภายนอก ประกอบกับองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ปี พ.ศ.2548-2557 เป็น “ทศวรรษแห่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2548-2557” (United Nation Decade of Education for Sustainable Development: DESD 2005-2014)

         จึงเป็นที่มาของ “โรงเรียนอีโคสคูล” ซึ่งเป็นเสมือนการทำงานศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาในระยะที่ 2 ที่สนับสนุนแนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) ในการขับเคลื่อนการทำงาน ตั้งแต่ระดับนโยบายของโรงเรียน การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับประเด็นท้องถิ่น การจัดการสภาพแวดล้อมในโรงเรียน และ ความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

วิวัฒนาการการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูล
  
         ภายหลังจากมีการประกาศ “ทศวรรษแห่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2548-2557” อย่างเป็นทางการ และ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงาน Eco-School จึงได้ร่วมกันกำหนดให้งาน Eco-School เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมศึกษาอาเซียน ฉบับที่ 2(ASEAN Environmental Education Action Plan 2008-2012) ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ทบทวนและศึกษาความเป็นไปได้ และนำแนวคิดโรงเรียนอีโคสคูลมาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนในประเทศไทย โดยแบ่งช่วงเวลาของการพัฒนางานโรงเรียนอีโคสคูลได้ดังนี้

  •  
  • ระยะนำร่อง (พ.ศ.2551-2554)  41 โรงเรียน

ในปี พ.ศ.2551 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มดำเนินการโรงเรียนอีโคสคูลอย่างจริงจังผ่านโครงการนำร่อง มีโรงเรียนที่สนใจและสมัครใจเข้าร่วมโครงการในระยะนำร่องทั้งสิ้น 41 โรงเรียน ซึ่งเน้นให้โรงเรียนดำเนินการตามหลักการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (โดย รศ.ประสาน ตังสิกบุตร คณะศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (โดย อ.สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์) และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (โดย ดร.เยาวนิจ กิตติธรกุล คณะสิ่งแวดล้อม) ในการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียน เป็นพี่เลี้ยง (Coacher) ร่วมนิเทศและให้คำแนะนำในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูล ตามกรอบพันธกิจทั้ง 4 ด้าน

บทสรุปสำคัญที่ได้จากการดำเนินงานในระยะนำร่อง คือ

(1) ต้องเสริมสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับแนวคิดและหลักการของโรงเรียนอีโคสคูล

(2) ต้องเสริมศักยภาพและขีดความสามารถของครูในการจัดทำหลักสูตร การวางแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ การใช้ศักยภาพของท้องถิ่น ในการจัดกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและชุมชน โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อค้นหาทางเลือกในการใช้ชีวิตและร่วมลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจากผลการเรียนรู้นั้น

(3) ควรเสริมสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนว่า เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การทำให้โรงเรียนมีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยปราศจากการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของคน

(4) ควรพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้เป็นมากกว่า “แค่” พื้นที่ที่ให้เด็กลงไปเก็บข้อมูล

  •  
  • ระยะนำร่องพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น (พ.ศ.2555-2557)  51 โรงเรียน

จากบทสรุปของการดำเนินงานในระยะนำร่องพบว่า พันธกิจที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเสริมการทำงานของโรงเรียนและครูก็คือ พันธกิจที่ 2 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งนอกจากจะเป็นหน้าที่หลักของครูทุกคนแล้ว พันธกิจที่ 2 นี้ยังช่วยหนุนเสริมพันธกิจที่ 1 การบริหารจัดการโรงเรียน และ พันธกิจที่ 4 การสร้างเครือข่ายความร่วมมือได้เป็นอย่างดี

                                      11269241_481983308618630_7707626217664377385_o.jpg (1)

ดังนั้น แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูลในระยะที่ 2 นี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรและการจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นหลัก  โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก  รศ.ประสาน ตังสิกบุตร มาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชนและท้องถิ่น เน้นการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Learning) และ การเรียนรู้จากประเด็นปัญหา (Problem Based Learning) โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งในระยะนำร่องพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นนี้ เป็นการสร้างพื้นที่ต้นแบบการจัดการเรียนรู้ประเด็นสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น โดยใช้ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ดำเนินการและขยายผล ประกอบด้วย

ปี พ.ศ.2555พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ                    จำนวน  9 โรงเรียน

              พื้นที่ชุ่มน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดปทุมธานี      จำนวน  9 โรงเรียน

ปี พ.ศ.2556พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่                จำนวน 10 โรงเรียน

              พื้นที่ชุ่มน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดปทุมธานี      จำนวน 10 โรงเรียน

และในปี พ.ศ.2557 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับ สำนักงานเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร และ บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายพื้นที่ต้นแบบการจัดการเรียนรู้ประเด็นสิ่งแวดล้อมเมือง  โดยมีโรงเรียนในเขตประเวศ สังกัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมเป็นโรงเรียนอีโคสคูล จำนวน 13 โรงเรียน รวมมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในระยะนำร่องพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นทั้งสิ้น 51 โรงเรียน

  •  
  • สู่แนวทางการขยายผลโรงเรียนอีโคสคูล

จากประสบการณ์การดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูล กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงได้ปรับรูปแบบและวิธีการในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูล  โดยเน้นการส่งเสริมการดำเนินงานตามพันธกิจที่ 2 (การจัดกระบวนการเรียนรู้) เป็นหลักในช่วงเริ่มต้น  ให้ความสำคัญกับกระบวนการนิเทศ-ติดตามและให้คำปรึกษาในการพัฒนาหลักสูตร  การพัฒนาสื่อสนับสนุนการดำเนินงาน  การประชาสัมพันธ์และเชิดชูผลงาน  ตลอดจนการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนด้วยกันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การขยายผลโรงเรียนอีโคสคูล

         ปี พ.ศ.2558 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มขยายผลโรงเรียนอีโคสคูลสู่โรงเรียนในสังกัดต่างๆ (เป้าหมายปีละ 60 โรงเรียน) โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีความพร้อมและสนใจ ประเมินตนเองเพื่อสมัครเข้าร่วมเป็นโรงเรียนอีโคสคูล ซึ่งโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้น 60 โรงเรียน จะได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง 3 ปี ดังนี้

ด้านงบประมาณ

จำนวน 10,000 บาท ในปีแรก (สำหรับโรงเรียนใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นโรงเรียนอีโคสคูลเท่านั้น) เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาของโรงเรียน

ด้านวิชาการ

สื่อ-เอกสารด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร และ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้-ศึกษาดูงาน

ด้านการประชาสัมพันธ์และเชิดชูเกียรติ

เกียรติบัตรเข้าร่วมเป็นโรงเรียนอีโคสคูล (สำหรับโรงเรียนที่เริ่มดำเนินงานในปีแรก) การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม  โล่รางวัลโรงเรียนอีโคสคูลดีเด่น (สำหรับโรงเรียนที่ดำเนินงานต่อเนื่อง 3 ปี) และ ประเมินโรงเรียนเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมรับรางวัล ASEAN Eco-Schools Award ที่จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี

ด้านอื่นๆ

โอกาสในการพัฒนาโรงเรียน เช่น การส่งบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่ายทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน


แบบประเมินความพึงพอใจในการให้บริการ อบจ.อำนาจเจริญ
แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก
รวมลิงค์
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานภายใน
จำนวนผู้เข้าชม
วันนี้ : 4
เมื่อวาน : 21
7 วันที่ผ่านมา : 696
เดือนนี้ : 436
ทั้งหมด : 54965
องค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ
259 หมู่13 อาคารดลเมธา ถนนชยางกูร ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ 37000
หน้าห้องนายก 045-523166, ประชาสัมพันธ์ 045-523166, แฟกส์ : 045 - 523166,045 - 523227, Email : [email protected], [email protected]